นายชัพน์ บุนนาค ลูกเสือคนแรกแห่งสยาม


เสวกตรีนายลิขิตสารสนอง

(2) ๖:ด:2:6:1 บุตรนายฉ่า บุนนาค มารดาชื่อ ทองสุก เกิด พ.ศ. ๒๔๓๘ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน มีน้องสาวชื่อ ชิ้ม (เกิด พ.ศ. ๒๔๔๐) เป็นภรรยาพระดุลยกรณ์พิทารณ์ (เชิด บุนนาค) น้องชายชื่อ ชิวห์ เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ และนายเฉียบ บุนนาค (เกิด พ.ศ. ๒๔๕๐) เป็นข้าราชการ กรมรถไฟ

เมื่อยังเยาว์ คุณหญิงไกรเพชรรัตนสงคราม (ฟอง บุนนาค) ผู้เป็นย่า ได้นำตัวเข้าถวายเป็นมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ ๖ ได้ศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก เริ่มที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ อาจารย์ใหญ่ได้นำนายชัพน์ บุนนาค ซึ่งแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ใหม่ ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงโปรดฯ ให้นายชัพน์กล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ๓ ข้อ ถวายต่อพระพักตร์ และรับสั่งว่า ในนามของข้า ผู้ให้กำเนิดลูกเสือ ข้ารับเจ้าเป็นลูกเสือไทยคนแรก ตั้งแต่บัดนี้ไป

เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเกียรติประวัติของนายชัพน์และพี่น้อง ในตระกูลบุนนาคที่รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด บรรดาเพื่อนทั้งหลายก็พลอยตื่นเต้นด้วย เพราะขณะนั้นทั้งโรงเรียนหรือจะกล่าวทั้งประเทศไทย ก็ยังไม่มีใครได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือเช่นนี้ คงมีแต่นายชัพน์เพียงคนเดียวเท่านั้น

หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว นายชัพน์ได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก แผนกตั้งเครื่อง มียศเป็นมหาดเล็กวิเศษ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายรองพลพ่าย มหาดเล็กเวรสิทธิ์ ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ไปประจำกรมราชเลขานุการในพระองค์ ตำแหน่งหุ้มแพรวิเศษ นายเวรอาลักษณ์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายลิขิตสารสนอง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทดลองวิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยและสร้างดุสิตธานีขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) เป็นนคราภิบาลของดุสิตธานี ซึ่งตำแหน่งนี้น้อยคนมักที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ

ต่อมาทรงมีพระราชดำริให้คนไทยได้มีนามสกุล ได้คิดนามสกุลพระราชทานกว่า ๖๐๐๐ นามสกุลในขั้นต้น ได้ทรงเขียนบัตรนามสกุลพระราชทานนั้นเป็นลายพระหัตถ์ แต่เมื่อมากรายเข้า ได้ทรงมอบหมายให้มหาดเล็กใน กรมราชเลขาธิการเป็นผู้เขียน ทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไปเพื่อลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าฯ ให้นายลิขิตสารสนอง เป็นหนึ่งในสามคนที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณในการนี้

พ.ศ. ๒๔๖๘ ในสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้เป็นเลขาธิการ กรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก ต่อมาทางการได้ยุบเลิกตำแหน่งเลขาธิการนี้ นายลิขิตสารสนอง จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เบญจมาภรณ์ช้างเผือก เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๕ เหรียญราชรุจิทอง และเข็มวชิราวุธข้าหลวงเดิม

พ.ศ. ๒๕๒๔ บรรดาศิษย์เก่าโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ร่วมกันจัดงานฉลองพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปีของรัชกาลที่ ๖ นายลิขิตสารสนอง ได้รับมอบหมายให้จัดแสดงละครพระราชนิพนธ์ เรื่อง หัวใจนักรบ อันเป็นบทละครพระราชนิพนธ์ที่วรรณคดีสมาคมได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ประกาศนียบัตรว่าเป็นยอดของละครพูด นายลิขิตสารสนองได้พยายามทำงานนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ได้รับเงินบริจาคการกุศลมาสมทบทุนสร้างหอวชิราวุธานุสรณ์ เป็นจำนวนหลายหมื่นบาท

นายลิขิตสารสนองถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ รวมอายุ ๘๖ ปี

นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) ได้สมรสกับนางลิขิตสารสนอง (เชียด บุนนาค) ธิดาหลวงวิชิตสุรไกร (ไชยมงคล บุนนาค) มีบุตรธิดา ๑๒ คน บุตรได้แก่ ไชยยนต์ สนธิยา ชวเลข เฉกชัพน์ รับวงศ์ อิทธิพงศ์ (พงศ์สอง) วิชชา ทวีศักดิ์ จักรกฤษณ์ และชูศักดิ์ นับเป็นลำดับชั้นที่ ๗

หน้า 78

 


สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30
31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 | 42 | 43 | 44 | 45 | 46 | 47 | 48 | 49 | 50 | 51 | 52 | 53 | 54 | 55 | 56
57 | 58 | 59 | 60 | 61 | 62 | 63 | 64 | 65 | 66 | 67 | 68 | 69 | 70 | 71 | 72 | 73 | 74 | 75 | 76 | 77 | 78 | 79 | 80 | 81 | 82
83 | 84 | 85 | 86 | 87 | 88 | 89 | 90 | 91 | 92 | 93 | 94 | 95 | 96 | 97 | 98 | 99 | 100 | 101 | 102 | 103 | 104 | 105 | 106
107 | 108 | 109 | 110 | 111 | 112 | 113 | 114 | 115

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.