(1) ๓:ท พระสุริยภักดี มีนามว่า สนิท เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต) กับท่านผู้หญิงน้อย (ธิดาของพระยาสมบัติยาธิบาลกับคุณหญิงม่วง สกุล ชูโต) เข้ารับราชการ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นนายเล่ห์อาวุธ หุ้มแพรมหาดเล็ก แล้วเป็นจมื่นประทานมณเฑียร ปลัดกรมตำรวจ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระสุริยภักดี เจ้ากรมตำรวจ ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ อายุ ๒๖ ปี

กล่าวกันว่า พระสุริยภักดี หรือคุณชายสนิท บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือสมเด็จ เจ้าพระยาองค์น้อย อายุไล่เลี่ยกับคุณชายช่วง บุตรสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) หรือสมเด็จ เจ้าพระยาองค์ใหญ่ ทั้งสองท่านเป็นผู้ฉลาดเฉลียวและหน้าตาคมสันด้วยกันทั้งคู่ ขณะที่คุณชายช่วงรับราชการได้เป็นถึงจมื่นไวยวรนารถ คุณชายสนิท ก็ได้เป็นจมื่นประทานมณเฑียร ปลัดกรมพระตำรวจ และได้เป็นพระสุริยภักดี เจ้ากรมตำรวจ ก่อนที่คุณชายช่วงจะได้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่บังเอิญมาเกิดเรื่องส่งเพลงยาวรักใคร่กันกับเจ้าจอมอิ่มจึงต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิต ซึ่งเรื่องของท่านผู้นี้น่าจะจำไว้เป็นอนุสรณ์ถึงความซื่อ ตรงเที่ยงธรรมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้ต้องการรักษากฎหมายของแผ่นดินและความถูกต้องยิ่งกว่าความอาลัยรักในสายโลหิตของตน

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนเล่าไว้ในเรื่อง โครงกระดูกในตู้ มีใจความว่า "เหตุเกิดเมื่อร้อยยี่สิบห้าปีมาแล้ว อ้ายพลายอีทรัพย์ทาสคุณสุริยภักดี ทำเรื่องราวยื่นต่อเจ้าพระยาธรรมาว่าคุณสุริยภักดีรักใคร่กับเจ้าจอมอิ่มในรัชกาลที่ ๓ คุณสุริยภักดีกับเจ้าจอมอิ่มติดต่อให้ข้าวของกัน และเจ้าจอมอิ่มสั่งให้มาบอกกับคุณสุริยภักดีว่าจะลาออกจากราชการมาอยู่บ้านพ่อแม่เสียชั่วคราวก่อน แล้วจึงให้คุณสุริยภักดีส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ พระสำราญราชหฤทัย (อ้าว) รู้เห็นเป็นใจด้วย จะช่วยสู่ขอเจ้าจอมอิ่มต่อพระยามหาเทพ ผู้เป็นบิดาเจ้าจอมอิ่มให้ เมื่อเจ้าพระยาธรรมานำความกราบบังคมทูล ก็โปรดฯ ให้ กรมหลวงรักษ์รณเรศร์ (หม่อมไกรสร ต้นตระกูลพึ่งบุญ) เป็นตุลาการ ชำระได้ความว่า คุณสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่ม เป็นแต่ให้หนังสือเพลงยาวและข้าวของกันเท่านั้น ไม่เคย พบปะพูดจากันที่ใด การชำระความได้เกี่ยวข้องไปถึงคนอื่นอีกถึง ๗ คน คือ ผู้ที่รู้เห็น เช่น พระสำราญราชหฤทัย เป็นกรมวัง รู้แล้วก็นิ่งเสีย ตลอดจนคนอื่นที่เกี่ยวข้องกันทั้งสองฝ่าย หมอดูหมอเสน่ห์ที่รู้เรื่อง เมื่อตุลาการนำความกราบบังคมทูลแล้ว ผู้ใหญ่เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าฯ มีพระกระแสรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ธิบดีขึ้นไปเฝ้าฯ แล้วมีพระราชดำรัสว่า คุณสุริยภักดีนั้นยังเป็นหนุ่มคะนอง ย่อมจะทำอะไรผิดพลาดไปโดยไม่รู้ผิดรู้ชอบ ตุลาการก็ได้กราบบังคมทูลขึ้นมาแล้วว่า คุณสุริยภักดีมิได้พบปะกับเจ้าจอมอิ่มเลย จึงมีพระกรุณาจะยกโทษให้ แต่เมื่อเรื่องราวอื้อฉาวมีโจทก์ฟ้องขึ้นมาเช่นนี้ จะทรงพระกรุณานิ่งเสียก็ไม่ได้ จึงทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยควรจะขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา และทำทัณฑ์บนไว้ให้แก่คุณสุริยภักดี ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษให้ แต่สมเด็จ เจ้าพระยาองค์น้อย ท่านกราบบังคมทูลว่า ท่านเองเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อบุตรของท่านเองทำผิดบทพระอัยการร้ายแรงถึงเพียงนั้น หาก ไม่ลงพระราชอาญาไปตามโทษานุโทษแล้ว ก็จะเสียหาย แก่แผ่นดินยิ่งนัก เหมือนกับว่าถ้าเป็นบุตรของท่านแล้วย่อมจะทำอะไรทำได้ไม่เป็นผิด จึงขอพระราชทานให้ลงพระอาญาตามแต่ลูกขุนจะปรึกษาโทษเถิด พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯ ให้ลูกขุนปรึกษาโทษตามที่ท่านกราบบังคมทูล ลูกขุนเชิญบทพระกฤษฎีกาออกมาดูแล้ว ปรากฎในบทพระกฤษฎีกาว่า ชายใดบังอาจสมรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายหญิง ส่วนผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ ก็ให้ประหารชีวิตเสียด้วย

ลูกขุนที่กล่าวนี้คือ ลูกขุนศาลา เมื่อในขณะนั้นสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ท่านเป็นถึงตำแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ท่านก็ต้องอยู่ในคณะลูกขุนนั้นด้วย และเมื่อลูกขุนนำความกราบบังคมทูลแล้ว ก็โปรดฯ ให้เป็นไปตามคำลูกขุนปรึกษา คุณสุริยภักดี เจ้าจอมอิ่ม และคนที่เกี่ยวข้องอีก ๗ คน ก็ถูกประหารชีวิตที่ตำบลสำเหร่ การที่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยมิได้ยอมรับพระมหากรุณาธิคุณ ถึงแม้ว่าผู้ผิดจะเป็นบุตรคนใหญ่ของท่านเอง ซึ่งเกิดแต่ท่านผู้หญิง จึงเป็นการกระทำเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เป็นเยี่ยงอย่างอันดีแก่คนในแผ่นดิน และเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลของท่านสืบมา คุณสุริยภักดีนั้นถึงจะตายด้วยโทษประหาร และตายแต่ยังเยาว์ก่อนอายุขัย ก็มิได้ตายเปล่า"

พระสุริยภักดี (สนิท) สมรสกับศรี ธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง ณ บางช้าง) มีบุตรธิดา ๓ คน และมีบุตรธิดากับภรรยาอื่น ๑๑ คน ท่านมีธิดาเป็นส่วนใหญ่ ธิดาท่านหนึ่งชื่อ สุด เป็นท่านเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ ธิดาชื่อ เดิม เป็นคุณหญิงของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ต้นสกุล แสง-ชูโต) และเป็นมารดาของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) และธิดาชื่อ เขียน เป็นภรรยา ของนายสนิทยศสถาน (พร้อม จาตุรงคกุล) เป็นต้น

หน้า 14

 


สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30
31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 | 42 | 43 | 44 | 45 | 46 | 47 | 48 | 49 | 50 | 51 | 52 | 53 | 54 | 55 | 56
57 | 58 | 59 | 60 | 61 | 62 | 63 | 64 | 65 | 66 | 67 | 68 | 69 | 70 | 71 | 72 | 73 | 74 | 75 | 76 | 77 | 78 | 79 | 80 | 81 | 82
83 | 84 | 85 | 86 | 87 | 88 | 89 | 90 | 91 | 92 | 93 | 94 | 95 | 96 | 97 | 98 | 99 | 100 | 101 | 102 | 103 | 104 | 105 | 106
107 | 108 | 109 | 110 | 111 | 112 | 113 | 114 | 115

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.