ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การเจรจากับประเทศมหาอำนาจ ความสามารถในการรักษาเอกราชไว้ได้ และการวางรากฐานของการพัฒนาให้ทันสมัย เริ่มจากส่วนของพระราชสำนัก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จ้างครูฝรั่งมาสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาเป็นต้น ข้าราชสำนักเริ่มสนใจเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้หนึ่งที่สนใจในภาษาอังกฤษ ท่านได้ศึกษาตำราที่มีอยู่แพร่หลาย ในสมัยนั้นจนสามารถเจรจาทำสัญญาทางไมตรีกับฝรั่งชาติต่างๆ ได้ นอกจากนั้นท่านยังสนใจศึกษาพงศาวดารจีน เมื่อท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้ให้ประชุมนักปราชญ์ทางภาษา แปลวรรณคดีจีนออกเป็นภาษาไทยถึง ๑๙ เรื่อง เช่น เรื่องน่ำซ้อง ซ้องกั๋ง ไต้อั้งเผ่า เป็นต้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ทัต) ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาตินั้น ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาศรีสุริยวงศ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหพระกลาโหม และทรงเลื่อนจมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) น้องชายของท่านขึ้นเป็นเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี ผู้ช่วยราชการในกรมท่า ทรงพระราชทานตราสุริยมณฑลแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และตราจันทรมณฑลแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นตราประจำสำหรับสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสององค์ แต่สมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ยังคงถือตราคชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม กับตราบัวแก้ว สำหรับตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังอยู่ตามเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตราศรพระขรรค์อีกดวงหนึ่งพระราชทานแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ต่อมาเมื่อท่านได้เป็นสมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่งแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านใช้ตราศรพระขรรค์เป็นคู่กับตราคชสีห์เหมือนกับตราจักรเป็นคู่กับตราพระราชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหนายก


ตราของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานที่บ้านของเจ้าพระยา บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อันเป็นบ้านหลวง ให้เป็นจวนที่อยู่ ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านได้อยู่ที่นี่จนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ผู้บิดาถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เลื่อนขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่ง ท่านจึงข้ามฟากไปอยู่ฝั่งธนบุรี พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างจวนอยู่ใหม่ซึ่งปัจจุบันคือ สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ริมคลองสาน (บริเวณนั้นเคยเป็นสุขศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ปัจจุบันเป็นวงเวียนเล็ก) ส่วนจวนเดิมของท่านบิดานั้น น้องของท่านได้อาศัยอยู่ต่อมา

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากในการปกครองประเทศสยามโดยเฉพาะหลังจากท่านบิดา "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่" และ "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย" ผู้เป็นอาถึงแก่พิราลัยตามลำดับ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ท่านรับราชการสนองพระเดชพระคุณ มีความสำคัญมากจนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า "ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เป็นเสมือนแม่ทัพแล้วสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเสมือน เสนาธิการช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ ๔" หน้าที่การงานของท่านในช่วงต้นรัชกาลที่ ๔ มีความสำคัญยิ่ง เพราะท่านเป็นผู้นำเอาชาวมอญจากเมืองนครเขื่อนขันธ์ ปทุมธานี เข้ามาฝึกหัดทหารแบบฝรั่งเป็นรุ่นแรก (เป็นเวลาเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฝึกหัดชาวญวนเป็นทหารแบบฝรั่งในเขตวังหน้า) ท่านมีครูทหารชาวอังกฤษที่ได้ชุบเลี้ยงไว้ชื่อ กัปตันน๊อกซ์ (ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายอังกฤษเป็น SIR THOMAS GEORGE KNOX)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ ๕

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ เซอร์ จอห์น บาวริ่ง (SIR JOHN BOWRING) ราชทูตอังกฤษได้เชิญราชสาส์นของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีขอทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งข้าหลวง ๕ คน โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ร่วมอยู่ด้วย ในครั้งนั้นประเทศไทยได้ทำการเจรจาทำสัญญาการค้าและไมตรีกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกเป็นผลสำเร็จ แม้จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามไปบ้างในยุคล่าอาณานิคม แต่ไทยก็สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ ในปีต่อมา ทูตอเมริกันและฝรั่งเศสได้เข้ามาทำหนังสือสัญญาการค้าโดยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ร่วมทำสัญญาด้วยโดยมิให้คนไทยเสียเปรียบแก่ต่างชาติ


เซอร์จอห์น บาวริ่ง

เซอร์โทมัส จอร์จ น็อกซ์

ในด้านการพัฒนาประเทศ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้มีบทบาทหลายด้าน เช่น เป็นแม่กองคุมการขุดคลองผดุงกรุงเกษม คลองดำเนินสะดวก ควบคุมการสร้างถนน ริมคลองข้างวัง และถนนจากพระบรมมหาราชวังไปยังด้านทิศใต้เขตฝรั่งซึ่งมีชื่อว่า "ถนนเจริญกรุง" (ถนนแรก ในเขตพระนคร ฝรั่งเรียกว่า NEW ROAD) ท่านเป็นผู้อำนวยการระดมทุนสร้างสะพานข้ามคลองต่างๆ โดยมีผู้ร่วมงานชาวต่างประเทศที่สำคัญคือ นายเฮนรี่ อาลบาสเตอร์ (HENRY ALBASTER)(๙) ในส่วนต่างจังหวัดท่านเป็นแม่กองในการสร้างพระนครคีรีที่เมืองเพชรบุรี สร้างวัดศรีสุริยวงษาวาสที่จังหวัดราชบุรี และเป็น คนแรกที่สร้างประภาคารในสยามที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ โดยเล็งเห็นความจำเป็นและประโยชน์ในการเดินเรือ

1 | 2 | 3 | 4 | 5

 


สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30
31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 | 42 | 43 | 44 | 45 | 46 | 47 | 48 | 49 | 50 | 51 | 52 | 53 | 54 | 55 | 56
57 | 58 | 59 | 60 | 61 | 62 | 63 | 64 | 65 | 66 | 67 | 68 | 69 | 70 | 71 | 72 | 73 | 74 | 75 | 76 | 77 | 78 | 79 | 80 | 81 | 82
83 | 84 | 85 | 86 | 87 | 88 | 89 | 90 | 91 | 92 | 93 | 94 | 95 | 96 | 97 | 98 | 99 | 100 | 101 | 102 | 103 | 104 | 105 | 106
107 | 108 | 109 | 110 | 111 | 112 | 113 | 114 | 115

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.