มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)
นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของสยามประเทศ

(14) ๔:ด:2 มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร มีนามว่า เกิด เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นบุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) มารดาชื่อ ศิลา เมื่อเยาว์ได้ศึกษาหนังสือไทย ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ได้ไปศึกษาที่ปีนังและกัลกัตตา ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้ส่งไป ได้ศึกษาวิชาอยู่ ๕ ปี จึงกลับเข้ามาประเทศสยาม พ.ศ. ๒๔๑๙ เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก ตำแหน่งนายเวรฤทธิมหาดเล็ก ต่อมาไปรับราชการกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้ช่วยข้าหลวงตะวันตก มีหน้าที่เป็นผู้เก็บและจ่ายเงินหลวง และเป็นล่ามทำหนังสือราชการเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ

พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสุริยานุวัตร ต่อมารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยข้าหลวงมณฑลพายัพ และกำกับตำแหน่งกรมคลังเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง

พ.ศ. ๒๔๓๐ เป็นผู้ช่วยทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ณ กรุงลอนดอน ระหว่างรับราชการได้เรียบ เรียงหนังสือเรื่องขนบธรรมเนียมราชการต่างประเทศขึ้น ซึ่งได้ใช้เป็นประโยชน์แก่ราชการในสมัยนั้น นับว่าเป็นตำรากฎหมายและการปฏิบัติระหว่างประเทศ เรื่องการทูตภาษาไทยเล่มแรก

พ.ศ. ๒๔๓๒ กลับเข้ามารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ และได้รับตำแหน่งอุปทูตประจำกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐบาลเข้าร่วมประชุม ในการเจรจาทำสัญญากับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนลุ่มน้ำโขง

พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุริยานุวัตร และออกไปเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และรัสเซีย รวม ๔ ประเทศ โดยมีสำนักงานอยู่ ณ กรุงปารีส ระหว่างที่ประจำการอยู่นั้น รัฐบาลได้มอบให้เป็นผู้จัดการออกพันธบัตรกู้เงินในประเทศอังกฤษ ให้เป็นข้าหลวงไปประชุมในเรื่อง PEACE CONFERENCE ที่กรุงเฮกส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์

พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้ดำริทำโค๊ตโทรเลขเพื่อใช้ในราชการ ทูตชื่อ "สุริยาโค๊ต" เล่มหนึ่ง และ "สยามคูโต" เล่มหนึ่ง ซึ่งได้ใช้ในราชการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นต้นมา

พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับมอบอำนาจให้เจรจาและลงนามในสัญญากับฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ จนฝรั่งเศสถอนทหารไปจากจันทบุรีหมด ต่อมาได้รับมอบอำนาจให้ลงนามในสัญญาทางพระราชไมตรี ระหว่างสยามกับอิตาลี ฉบับลงวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ นอกจากนี้ได้เป็นผู้ช่วยเหลือในการเจรจากับอังกฤษ เกี่ยวกับเรื่องเมืองกลันตัน และเมืองตรังกานู

พ.ศ. ๒๔๔๘ ย้ายกลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งรักษาการแทน เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ แล้วเป็นเสนาบดีในปีเดียวกันนั้น ได้รับพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์เอก


ภาพเขียนของพระยาสุริยานุวัตร
เขียนด้วยสีน้ำมันขนาดใหญ่
ซึ่งจิตรกรชาวอิตาลีเป้นผู้เขียนภาพนี้เมื่อ ค.ศ. 1898

ในปีต่อมาได้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนั้น พระยาสุริยานุวัตรได้จัดการโอนจำหน่ายฝิ่นจากนายอากรมาเป็นรัฐบาลทำเอง ทั้งหมด ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้นาย อากรไม่พอใจที่เสียผลประโยชน์ พ.ศ. ๒๔๕๐ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ นอกจากนี้ยังได้คิดวิธีเปลี่ยนระบบการเงินของไทย จากมาตราเงินเป็นมาตราทองคำ และคิดทำสตางค์ขึ้นใช้แทนอัฐ ซึ่งสำเร็จผลต่อมาภายหลังที่ท่านลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีแล้ว

พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัวรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนหนังสือเรื่องทรัพยศาสตร์ ซึ่งถือว่า เป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศไทย มีจำนวน ๓ เล่ม เล่ม ๑-๒ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ เล่ม ๓ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ นอกจากนั้นยังได้เขียนบทความทางเศรษฐกิจลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง บทความที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากคือ เรื่อง ธนาคารชาติ

พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ทำหน้าที่ ที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายก ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนของรัฐบาลไปเจรจากับเจ้านายฝ่ายเหนือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พระยาสุริยานุวัตร ถึงอนิจกรรมในรัชกาลที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รวมอายุ ๗๔ ปี

พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) สมรสกับคุณหญิงลิ้นจี่ ธิดาพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) มีบุตรธิดา ๗ คน บุตรได้แก่ หลวงสุริยพงศ์พิสุทธิแพทย์ (กระจ่าง) แพทย์ประจำกรมรถไฟหลวง ดร.ประจวบ บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกียรติ และจรัล นับเป็นลำดับชั้นที่ ๕ และไม่มีทายาทสืบต่อสายนี้

ธิดาที่สำคัญได้แก่

  • หม่อมลินจง เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
    กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๔ อายุ ๓๗ ปี
  • ธิดาชื่อ ลำจวน เป็นนางพระกำนัลในรัชกาลที่ ๖ ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๘ พ.ศ. ๒๔๘๔ อายุ ๕๕ ปี

ตึกสุริยานุวัตร

ชุดอาหารเครื่องเงินและกระเบื้องหลากหลายแบบ มีตราประจำตัวของพระยาสุริยานุวัตรติดอยู่ทุกชิ้น
หน้า 22

 


สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30
31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 | 42 | 43 | 44 | 45 | 46 | 47 | 48 | 49 | 50 | 51 | 52 | 53 | 54 | 55 | 56
57 | 58 | 59 | 60 | 61 | 62 | 63 | 64 | 65 | 66 | 67 | 68 | 69 | 70 | 71 | 72 | 73 | 74 | 75 | 76 | 77 | 78 | 79 | 80 | 81 | 82
83 | 84 | 85 | 86 | 87 | 88 | 89 | 90 | 91 | 92 | 93 | 94 | 95 | 96 | 97 | 98 | 99 | 100 | 101 | 102 | 103 | 104 | 105 | 106
107 | 108 | 109 | 110 | 111 | 112 | 113 | 114 | 115

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.