พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง พระบรมราชาธิบายว่าด้วยยศขุนนาง มีความตอนหนึ่งว่า "ขุนนางในเมืองเรานี้ ไม่ได้เป็นสืบตระกูลเหมือนดังประเทศข้างตะวันตก เป็นธรรมเนียมคล้ายกับเมืองจีน ยศบรรดาศักดิ์กับออฟฟิศร่วมกัน เมื่อมียศบรรดาศักดิ์แล้วก็มีออฟฟิศว่าด้วย ถ้าออกจากออฟฟิศก็เป็นสิ้นยศบรรดาศักดิ์ไป เว้นแต่ที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มียศคงอยู่ โดยผู้นั้นมีความชอบมาแต่เดิม เพราะฉะนั้นขุนนางจึงได้รับราชการตลอดอายุโดยมาก

เมื่อขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ดี มีบุตรต้องถวายตัวพระเจ้าแผ่นดินเป็นมหาดเล็กรับราชการ เป็นแต่การใช้สอยเล็กน้อยใกล้เคียงพระเจ้าแผ่นดิน มีเบี้ยหวัดบ้างนิดหน่อย เมื่อได้รับราชการอยู่ใกล้เจ้าแผ่นดิน ดังนั้น ก็ได้ยินได้ฟังราชการขุนนางเจ้าพนักงานนำมากราบทูล และเจ้าแผ่นดินรับสั่งไปเป็นการเรียนราชการอยู่เสมอ เมื่อเจ้าแผ่นดินเห็นว่าผู้นั้นคุ้นเคยในราชการเข้าบ้างแล้ว ก็ใช้ให้ไปตรวจการต่างๆ นำความมากราบทูล และใช้ให้ ไปสั่งเสียด้วยราชการต่างๆ บ้าง มหาดเล็กผู้นั้นต้องคิด เรียบเรียงถ้อยคำที่จะกราบทูลด้วยปากบ้าง ด้วยหนังสือบ้างเป็นเหมือนหนึ่งเอเซ* จนเจ้าแผ่นดินเห็นว่าผู้นั้นสมควรจะมีตำแหน่งราชการ ก็ค่อยเลื่อนยศขึ้นไปทีละ น้อยๆ ตามลำดับ ไม่ว่าบุตรขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย แล้ว แต่พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดองค์เดียว เพราะธรรมเนียม เป็นดังนี้ ถ้าขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยผู้ใดมีบุตรดีที่ได้ทดลองแล้ว พระเจ้าแผ่นดินเห็นสมควรที่จะได้รับราชการสืบตระกูลบิดาได้ ก็ให้เลื่อนยศให้สืบตระกูลบิดาไปบ้าง แต่ที่ไม่ได้สืบตระกูลบิดาเสียนั้นโดยมาก เพราะบุตรไม่ดีเหมือนบิดา


ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุทัศนเทพวราราม ในภาพเห็นขบวนแห่เครื่องยศของขุนนางที่มาเฝ้าแหนกษัตริย์

กำหนดบรรดาศักดิ์ขุนนาง พระเจ้าแผ่นดินต้องตั้งนั้น ตั้งแต่ศักดินา ๔๐๐ ขึ้นไป ยกเสียแต่นายรองหุ้มแพร มหาดเล็ก ซึ่งเป็นบุตรขุนนางดังเช่นว่าไว้แล้วในข้างต้น มีศักดินาแต่ ๓๐๐ พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเอง เพราะเป็นคนใช้อยู่ใกล้เคียง เพราะเหตุฉะนั้น กรมมหาดเล็กนี้เป็นกรมสำคัญยิ่งกว่ากรมอื่นๆ ถึงตัวนายที่ได้รับสัญญาบัตรจะมีศักดินาน้อยก็เป็นที่ยำเกรงนับถือของคนทั้งปวง มากกว่าขุนนางซึ่งมีศักดินาสูงๆ กรม อื่น ๆ ด้วยเป็นเหตุที่เป็นบุตรขุนนางมีตระกูลประการหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปประการหนึ่ง เป็นผู้ใกล้เคียงได้ฟังกระแสพระเจ้าแผ่นดินแน่แท้ประการหนึ่ง เป็นผู้เพ็ดทูลได้ง่ายประการหนึ่ง จึงได้มีเกียรติยศเป็นที่นับถือมาก

ขุนนางซึ่งเป็นธรรมเนียม มีตำแหน่งมาแต่โบราณจนถึงปัตยุบันนี้ (ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐) แบ่งเป็นสองพวก พวกหนึ่งฝ่ายทหาร พวกหนึ่งฝ่ายพลเรือน บรรดาเลขไพร่หลวงซึ่งขึ้นในกรมฝ่ายทหารก็เป็นไพร่หลวงทหาร ขึ้นฝ่ายพลเรือนก็เป็นไพร่หลวงพลเรือน ถ้าเวลาจะจ่ายคนชักคน ในฝ่ายพลเรือน พันพุฒซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในกรมมหาดไทยเป็นผู้จ่าย ถ้าเป็นไพร่หลวงทหาร พันเทพราชซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในกรมพระกลาโหมเป็นผู้จ่าย

แต่ถึงแบ่งเป็นสองส่วนไว้อย่างนี้แล้วก็ดี เมื่อมีการทัพศึกต้องเกณฑ์เป็นทหารไปรบทั้งสองฝ่าย ทั้งขุนนางแลไพร่ ถ้าจะว่าที่แท้แล้วในเวลาสงบไม่มีทัพศึก ก็เป็นพลเรือนทั้งสองฝ่าย ถ้ามีการทัพศึกก็เป็นทหารทั้งสองฝ่าย ทหารพลเรือนนั้นแบ่งแต่พอรู้กำหนดว่าสองฝ่ายเท่านั้น ถ้าเวลาเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน พลเรือนเฝ้าฝ่ายขวาของพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายซ้ายของผู้หันหน้าเข้ามาทางพระเจ้าแผ่นดิน ทหารเฝ้าฝ่ายซ้ายพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายขวาของผู้ที่หันหน้าเข้ามาทางพระเจ้าแผ่นดิน แต่นับถือกันว่าทหารเฝ้าขวา พลเรือนเฝ้าซ้าย ต้องไว้ช่องกลางเหมือนอย่างเช่นออกแขกเมือง ฤาดังเช่นออก ขุนนางทุกคราว

ในตำแหน่งทหารพลเรือนทั้งสองฝ่ายนี้ มีท่านอรรคมหาเสนาบดีเป็นหัวหน้าอยู่ฝ่ายละคน เรียกว่า สมุห คือเจ้าหมู่สมุหนายกฝ่ายพลเรือน สมุหพระกลาโหมฝ่ายทหาร กรมอื่นๆ นอกจากนั้นต้องขึ้นสองกรมนี้ทั้งนั้น แต่มิใช่ขึ้นอยู่ในบังคับทีเดียว กรมต่างๆ ต้องฟังบังคับพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว เป็นแต่ขึ้นอยู่ในบาญชีแลเป็นผู้รวบรวม บาญชีที่จะกะเกณฑ์แลแจกเบี้ยหวัดกำกับยื่นหางว่าว สักเลข แลการอื่นๆ ไม่มีอำนาจที่จะบังคับบัญชาสิ่งไรในกรมอื่นๆ ที่เป็นกรมใหญ่ๆ ได้นอกจากกรมมหาดไทย กรมกลาโหม ซึ่งเป็นกรมของตัวแท้ๆ

ตำแหน่งขุนนางนั้น ได้ตั้งเป็นธรรมเนียมขึ้นแรกแต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ ๑ ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเก่า เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ เป็นแบบสืบมาดังนี้ อรรคมหาเสนาบดี ๒ ฝ่าย พลเรือนคนหนึ่ง คือ เจ้าพระยาจักรี ฝ่ายทหาร คนหนึ่ง คือ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดีเป็นชั้นที่ ๑ รองลงไป จตุสดมภ์สี่ คือ พระคลัง เจ้าพระยาศรีธรรมราช, วังเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์, พระนครบาล เจ้าพระยายมราช, เกษตราธิบดี เจ้าพระยาพลเทพ ทั้ง ๔ นี้เป็นจตุสดมภ์เสนาบดี"

คำว่า จตุสดมภ์ นั้น แปลว่า เป็นเครื่องค้ำเครื่องจุนทั้ง ๔ ถัดลงไป เสนาบดี พระยาสีหราชเดโช แม่ทัพบก พระยาสีหราชฤทธิไกร แม่ทัพเรือ ขุนนางทั้งแปดข้างบนที่ว่ามาแล้วนั้น ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ เสมอกันตามธรรมเนียม

"ที่ว่ากันโดยโวหาร เป็นสำนวนโบราณ ว่าเจ้าแผ่นดินเป็นใจเมือง อรรคมหาเสนาบดีทั้ง ๒ เป็นตาเมือง จตุสดมภ์ ๔ เป็นตัวเมือง เป็นตีนเมือง เดโชสีหราชเป็นมือเมือง ที่เป็นตำแหน่งโบราณสืบมาจนทุกวันนี้ ถัดลงไปเสนาบดีฤามนตรี ๖ คือ พระยาเพชรพิไชย ว่ากรมล้อมพระราชวัง ซึ่งเป็นคนสนิทของพระเจ้าแผ่นดิน พระยาราชสุภาวดีว่ากรมพระสุรัสวดี คือ รวมบาญชีเลขทั้งฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือน ถ้าฝ่ายทหารก็ดี พลเรือนก็ดีจะจ่ายเลข ชักเลข ต้องพร้อมด้วยกรมพระสุรัสวดีเป็นกลาง พระยาราชภักดีคลังมหาสมบัติ เป็นผู้รักษาเงินแลจ่ายเงินรับเงินทั้งแผ่นดิน พระยาพระเสด็จบังคับพระสงฆ์ทั้งแผ่นดิน พระยาศรีภูริปรีชา กรมอาลักษณ์ เป็นผู้สำหรับรักษาพระราชกำหนดกฎหมายฉบับข้างที่ ซึ่งเป็นกลาง แลเป็นผู้แต่งพระราชสาส์นซึ่งมีไปมาต่อเจ้าแผ่นดินทั้งปวง แลเป็นผู้รับพระบรมราชโองการ แลประกาศพระราชกฤษฎีกาต่างๆ พระยาอุไทยธรรมพนักงานกรมภูษามาลา สำหรับรักษาเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ แลเครื่องราชูปโภคสำหรับพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน แลบังคับการในโรงแสงต้นแสงหอกดาบ ซึ่งเป็นที่ไว้อาวุธหอกดาบทั้งปวง ซึ่งเป็นกำลังแผ่นดิน แลรักษาหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ที่ได้ทำต่อประเทศทั้งปวง ขุนนางทั้ง ๖ นี้ถือศักดินา ๕๐๐๐ เสมอกัน เว้นแต่พระยาพระเสด็จ ถือศักดินา ๑๐๐๐๐"

ขุนนาง หมายถึงข้าราชการบรรดาศักดิ์ มีฐานะหรือยศซึ่งได้รับพระราชทานเนื่องจากตำแหน่ง

ยศบรรดาศักดิ์ขุนนางไทย มีปรากฎมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองกรุงศรีอยุธยา บรรดาศักดิ์ชั้นสูงสุดเป็น "เจ้าพระยา" ตำแหน่งเจ้าพระยาในทำเนียบมี ๕ คนคือ

เจ้าพระยามหาอุปราช (มาเปลี่ยนเรียกว่า สมเด็จ เจ้าพระยาทีหลัง) คน ๑ เจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก หัวหน้าข้าราชการพลเรือนคน ๑ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาสมุหพระกลาโหม หัวหน้าข้าราชการฝ่ายทหารคน ๑ เจ้าเมืองเอกคือ เจ้าพระยาพิษณุโลกคน ๑ กับเจ้า พระยานครศรีธรรมราชอีกคน ๑ รองจาก ๕ ตำแหน่งนี้ ลงไปเป็น ออกญา"* เช่นเสนาบดีชั้นจตุสดมภ์ เป็นต้น

ขุนนางในสมัยก่อนเมื่อทำความดีความชอบ จะได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ ราชทินนาม และตราประจำตำแหน่ง ในชั้นเดิมนั้นราชทินนามกับตำแหน่งจะควบคู่กันไป เช่น เจ้าพระยาจักรี ต้องมีตำแหน่งสมุหนายก ราชทินนาม มหาเสนา ต้องเป็นเจ้าพระยา และเป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีกลาโหม เป็นต้น

 
1 | 2



Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.