สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ
(ทัต บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาแห่งตระกูลบุนนาคอีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทในการช่วยปกครองประเทศมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ คู่กันกับสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) พี่ชาย คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) บุตรคนที่สิบของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล เกิดเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๓๔

ท่านเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๑ เป็นนายสนิทหุ้มแพรมหาดเล็ก ในสมัยรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นจมื่นเด็กชา หัวหมื่นมหาดเล็กวังหน้า ไปรับราชการในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (สมเด็จเจ้าฟ้าจุ้ย พระอนุชาฯ) เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต พ.ศ. ๒๓๖๐ ได้ย้ายกลับมารับราชการในพระบรมมหาราชวังตามเดิม ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก

ในรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริจะให้เป็นเจ้าพระยายมราช เสนาบดีนครบาล แต่ท่านไม่ยอมรับ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่าพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ได้รับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชวงศ์จักรีมาถึง ๓ รัชกาล ด้วยความเรียบร้อย อุตสาหะวิริยะและซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ว่าราชการทั้งปวงร่วมกับเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) ผู้พี่ชายกับพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายกและว่าที่พระคลังมหาสมบัติ ด้วยเหตุนี้เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ได้ทรงแต่งตั้งขุนนางตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระยาศรีพิพัฒน์ฯ รวมอยู่ด้วย ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ กล่าวไว้ว่า

"ครั้งนั้น โปรดให้เรียกพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาว่า เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติไปพลางก่อน จนถึงฤกษ์ จึงยกขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาตินรเนตร นาถราชสุริยวงศ์ สกลพงศ์ประดิษฐา มุขมาตยาธิบดี ไตรสรณศรีรัตนธาดา สกลมหารัชชาธิเบนทร ปรเมนทรมหาราชวโรประภาร มโหฬารเดชานุภาพบพิตร ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐ จารึกในแผ่นทองคำเนื้อแปด พระราชทานกลด เสลี่ยงงา พระแสงลงยาราชาวดี เป็นเครื่องยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ถือดวงตราจันทรมณฑลเทพบุตรชักรถ ให้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน คงว่าพระคลังสินค้าด้วย...."

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย รับราชการในกรม พระคลังสินค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ท่านยังมีความสามารถหลายด้าน ท่านเคยเป็นแม่ทัพลงไปปราบกบฎหัวเมืองมลายู ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ เล่าว่า พ.ศ. ๒๓๘๑ เกิดกบฎที่ไทรบุรี รัชกาล ที่ ๓ โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ขณะอายุ ๔๘ ปี เป็นแม่ทัพลงไปปราบ ในระหว่างนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติให้หลวงอุดมสมบัติ (จัน) ผู้มีตำแหน่งในกรมพระคลังสินค้า ทำหน้าที่คล้ายเลขานุการ คอยสดับฟังข้อราชการในกรุงเทพฯ บอกออกไปให้ทราบ ในจดหมายเหตุ หลวงอุดมสมบัติ เรียกสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่า "ท้าวพระกรุณาเจ้า" เล่ากันว่าทรงประทานเรือพระที่นั่งอมรแมนสวรรค์ (ซึ่งเจ้าพระยานครเป็นผู้สร้างถวาย) ให้เป็นเรือที่สมเด็จ เจ้าพระยาฯ นั่งเอาฤกษ์ออกยกทัพ ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลงไป สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ พร้อมนายทัพนายกองไปถึงสงขลา ซึ่งใช้เป็นที่บัญชาการ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๒ หลังจากไปปราบเมืองไทรบุรีและกลันตันเรียบร้อยแล้วก็ยกทัพกลับเมืองสงขลา สมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติได้สร้างเจดีย์ขึ้นบนยอดเขาเมืองสงขลา (ภูเขาฝั่งหัวเขาแดง หรือฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองในปัจจุบัน) เคียงคู่กับพระเจดีย์ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พี่ชายเคยสร้างเป็นอนุสรณ์คราวปราบกบฏเมืองตานี


พระที่นั่งไชยชุมพล

ใน พ.ศ. ๒๓๙๓ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ต้องเป็นผู้รับทูตอเมริกัน แทนเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งไปราชการสักเลข ในครั้งนั้นประธานาธิบดีอเมริกันได้แต่งให้โยเซฟ บาเลศเตีย (JOSEPH BALLESTIER) เป็นทูตเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาซึ่งเอ็ดมัน โรเบิร์ต ทำไว้ก่อน พระราชพงศาวดารกล่าวไว้อย่างละเอียด ถึงความไม่สุภาพของทูตที่จะขอให้นำเข้าเฝ้าถวายหนังสือฯ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านไม่ยอมฝรั่งง่ายๆ ท่านตอบว่า "อย่างธรรมเนียมกรุงเทพมหานคร ที่จะเอาหนังสือไปถวายก่อนนั้นยังไม่ควร จะพูดจาการสิ่งใด ให้พูดกับท่านเสนาบดีให้รู้ความก่อน" เรื่องนี้โยเซฟ บาเลศเตีย โกรธมากถึงกับทำหนังสือยื่นฟ้องสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่าดูถูกราชทูต และคนอเมริกัน ให้ทำหนังสือขอโทษ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านไม่ตอบประการใด เมื่อฝรั่งขอเรือกำปั่นรบออกนอกสันดอน ท่านเสนาบดีก็จัดเรือไปส่งตามคำขอ ฝรั่งกลับไปโดยทำการไม่สำเร็จ เพราะไม่เข้าใจธรรมเนียมไทยว่าพระราชสาส์นและพิธีการ มีความสำคัญมากในพระราชสำนัก

เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระประชวรหนัก ได้รับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ คุมช่างทำพระแท่นและพระวิสูตร มาตั้งและกั้นในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน องค์ข้างตะวันตก แล้วเสด็จออกมาประทับอยู่ที่พระแท่นทำใหม่นั้น พอถึงวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นมหากษัตริย์ที่ใฝ่พระทัยในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องจากทรงมีพระปรีชาสามารถทางการค้า จึงทำให้เศรษฐกิจของชาติมั่นคง มีเงินสำหรับบำรุงพระศาสนาและบ้านเมืองมากมาย ทรงให้สร้างวัดใหม่ ๔ วัด และปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ อีก ๓๕ วัด โปรดฯ ให้เจ้านายและเสนาบดีเป็นแม่กองสร้างและบูรณะวัดต่างๆ ด้วย

 
1 | 2


 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.